วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พระมหากษริย์กรุงสุโขทัย


พระมหากษัตริย์สมัยกรุงสุโขทัย
          ประวัติศาสตร์ก่อนราชวงศ์พระร่วง กล่าวได้ว่าก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในช่วงตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ได้มีอาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่ในแหลมทองก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยหลายอาณาจักร ที่สำคัญ คือ อาณาจักรมอญ พุกาม ทวารวดี โยนกเชียงแสน หริภุญชัย เชียงราย ลพบุรี ส่วนมากอาณาจักรเหล่านี้ ขึ้นมามีอำนาจ และเสื่อมอำนาจลงไปก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ส่วนอาณาจักรกัมพูชา สมัยเมืองพระนครนั้น นับเป็นอาณาจักรที่มีอิทธิพลต่อการตั้งอาณาจักรสุโขทัยมากที่สุด และการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรกัมพูชาสมัยเมืองพระนครนี้เป็นการเปิดโอกาสให้การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยทำได้สำเร็จ และหลังจากนั้นอาณาจักรสุโขทัยก็เริ่มขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้มีเมืองที่สำคัญๆ ของชุมชนไทย ซึ่งมีบรรพบุรุษถอยร่นลงมาจากอาณาจักรน่านเจ้า ๓ เมือง เมืองทั้ง ๓ นี้ต่อมาได้หลอมตัวกันเป็นอาณาจักรสุโขทัย สันนิษฐานกันว่า คือ
๑.เมืองเชลียง
๒.เมืองราด
๓.เมืองบางยาง

ทั้ง ๓ เมือง ปกครองโดยเจ้าเมืองที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติเดียวกัน(เป็นเพียงหนึ่งในทฤษฎีการเกิดรัฐไทย)
สุโขทัยเป็นอาณาจักรหนึ่งอยู่ทางภาคกลางตอนเหนือ ก่อนราชวงศ์พระร่วง อาณาจักรสุโขทัยมีราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมครองอยู่ ในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุมซึ่งเริ่มประมาณ พ.ศ.๑๗๖๒ เคยเป็นเมืองประเทศราชเมืองหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุมสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ขึ้นปกครองเมืองแทน พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๑)โปรดปรานพ่อขุนผาเมืองมาก พ่อขุนผาเมืองเป็นกษัตริย์นักรบรูปงาม และเก่งกล้าสามารถเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนเป็นที่ปรารถนาของ นางสิขรมหาเทวี หรือนางสิงหเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอม แห่งเมืองศรีโสธราปุระ(คือ นครธม) ดังนั้นกษัตริย์ขอมจึงปรารถนาที่จะได้พระองค์ไว้เป็นราชบุตรเขย พร้อมกับแต่งตั้งพระนามถวายเป็นเกียรติยศว่า กมรเตงอัญศรีอินทรปติน(บดินทร)ทราทิตย์ กับได้พระราชทานนางสิขรมหาเทวี ผู้เป็นพระราชธิดาให้เป็นมเหสีพร้อมกับพระแสงขรรค์ชัยศรีให้ด้วย
ในครั้งนั้นศรีศรัทธาฯ ผู้เป็นหลานของ พ่อขุนผาเมือง ได้จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม) ข้อความสำคัญนั้นไว้ว่า

พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อคนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรปติน (บดินทร) ทราทิตย์ นามเดิม กมรเตงอัญผาเมือง เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองสรี (ศรี) โสธรปุระให้ลูกสาวชื่อนางสิขรมหาเทวีกับขัน (ขรรค์) ไชยศรี ให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมือง

ข้อความในจารึกหลักที่ ๒ นี้ นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้ครองเมืองสุโขทัยมาก่อนมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยของชนชาติไทย สามารถลำดับเชื้อสายได้ดังนี้
๑.ขุนศรีนาวนำถุม มีพระโอรสพระธิดา คือ ขุนผาเมือง นางเสือง พระยารามคำแหง
๒.ขุนผาเมือง ครองเมืองราด อภิเษกกับ นางสิขรเทวี(พระธิดากษัตริย์ขอม)
๓.นางเสือง เป็นมเหสีของ ขุนบางกลางหาว ครองเมืองบางยาง
๔.พระยาคำแหงพระราม มีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อ ขุนศรีศรัทธาฯ

(ขุนศรีศรัทธานั้นมีพระโอรสองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์ จึงออกบวช และได้เป็นพระศรีสัทธาราชจุฬามณีรัตนลังกาทวีป พระสังฆราชอยู่ที่เมืองสุโขทัย) ด้วยเหตุนี้ เชื้อพระวงศ์ของขุนศรีนาวนำถุมจึงหมดสิ้นลง
อาณาจักรสุโขทัยครอบคลุมเมืองฉอด(ใกล้แม่น้ำเมย)ลำพูน น่าน พิษณุโลก ต่อมาอาณาจักรสุโขทัยอยู่ใต้อำนาจของขอมสบาดโขลญลำพง จนกระทั่งพ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุมทรงร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาวขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงไป พ่อขุนบางกลางหาวทรงยึดเมืองศรีสัชนาลัยได้ และทรงเวนเมืองให้พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์สุโขทัย
สุโขทัยที่เป็นนครหลวงแห่งแรกของประชาชนเชื้อสายไทย สังคมไทยในยุคนี้มีลักษณะเป็นสังคมเผ่า มีความเกี่ยวพัน และผูกพันกันอย่างหนาแน่นในสายโลหิต อาณาเขตของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ประกอบด้วยเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัยเท่านั้น
ต่อมาได้ขยายกว้างขวางขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ความสัมพันธ์ของประชาชนก็มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางใจอันเกิดจากความรู้สึกว่าเป็นคนสายเลือดเดียวกัน และอยู่ภายใต้การปกครองโดย พ่อขุนองค์เดียวกัน ตามหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
แนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยนี้ทรงเป็นผู้ครองนคร ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเหนืออาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง สิทธิการเป็นพระมหากษัตริย์สืบทอดโดยการสืบสันตติวงศ์ ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงตัวผู้ปกครองแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นของชาวพุทธแท้ๆ ไม่มีคตินิยมแบบพราหมณ์เข้ามาปะปน พอสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงจนถึงรัชกาลกษัตริย์องค์ต่อๆมา เช่น พระมหาธรรมราชาลิไท อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามา กษัตริย์เริ่มเป็นเทพยดา แต่ก็ยังยึดศาสนาพุทธอยู่ จึงเป็นแค่ ธรรมราชา ซึ่งเป็นคำในศาสนาพุทธ เหมือนที่ใช้เรียกพระเจ้าอโศก แต่หลังจากนั้นเริ่มเป็น รามาธิบดี
ข้อคิดเห็นก่อนศึกษาประวัติศ่าสตร์สุโขทัย ในส่วนของพระนามนั้น ได้มีการศึกษาค้นคว้าและสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด จากศักราชที่คลาดเคลื่อนไม่ต้องตรงกัน รวมทั้งการใช้คำว่าพระยาแทน พญา และไทยแทน ไทได้รับการปรับปรุงให้แน่ชัดขึ้นเสมอมาโดยอาศัยหลักฐาน ต่างๆ เช่น จาก คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดยศาสตราจารย์ รตท.แสง มนวิทูร นำไปใช้อ้างอิงโดย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต และผู้รู้อีกหลายท่านดังที่ปรากฏในรายชื่อหนังสืออ้างอิงท้ายบทความ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๙ จึงนับเป็นหลักฐานล่าสุดที่น่าเชื่อถือได้ แต่ความคลาดเคลื่อนด้านศักราชยังคงต้องมีอยู่ต่อไป เนื่องจากในบางช่วงของประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในระหว่างนักประวัติศาสตร์ด้วยกัน ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ด้วยอาจมีหลักฐานใหม่ๆปรากฏขึ้นอยู่เรื่อยๆในอนาคต
เกี่ยวกับลำดับการครองราชย์นั้น นักวิชาการได้สรุปปีศักราชไว้แตกต่างกัน อาทิ นายตรี อมาตยกุล, ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี และผู้ช่วยศาสตราจารย์สินชัย กระบวนแสง เป็นต้น อีกทั้งยังมีตำราที่นักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ หรือองค์กร หน่วยงานต่างๆ ได้เรียบเรียงไว้ด้วยหลักฐานที่ต่างกัน ดังนั้น ในบทความนี้จึงเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งจากในหลายๆข้อสันนิษฐาน
จากความคิดเห็นแตกต่างของนักวิชาการจึงมีการประชุมสัมมนาทางประวัติศาสตร์อยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังยึดถือรายชื่อกษัตริย์เพียง ๙ พระองค์ ไปจนกว่าจะมีการยอมรับในที่ประชุมกันใหม่


๑.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิม พ่อขุนบางกลางหาว (แต่เดิมอ่านว่า พ่อขุนบางกลางท่าว) ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย
ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ ปีพ.ศ.๑๗๙๒ (คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตร ตามข้อเสนอของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และพ.อ.พิเศษ เอื้อน มณเฑียรทอง)
ในเอกสารจดหมายเหตุงานฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไท ของ กองวรรณคดี และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดลำดับว่าครองราชย์ ปี พ.ศ. ๑๘๐๓
ส่วนปีสวรรคตไม่ปรากฏหลักฐานการสวรรคตหรือสิ้นสุดการครองราชสมบัติปีใด
มีผู้สันนิษฐานที่มาของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าบ้านเดิมของพระองค์อาจอยู่ที่ บ้านโคน ในจังหวัดกำแพงเพชร หลักฐานที่มาของพ่อขุนบางกลางหาว อีกแหล่งหนึ่ง คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๒ (จารึกวัดศรีชุม) ทำให้ทราบว่าเมืองที่ทรงเป็นเจ้าเมืองก่อนมาครองกรุงสุโขทัย อยู่ใต้เมืองบางยางลงไป มีผู้เสนอความเห็นว่าพ่อขุนบางกลางหาวน่าจะอยู่แถวกำแพงเพชร 
การที่พ่อขุนผาเมืองทรงยกสุโขทัย และอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์ อาจจะทรงเห็นว่าสุโขทัยในขณะนั้นเป็นเมืองเล็กกว่าศรีสัชนาลัย หรืออาจจะเป็นเพราะว่านางเสือง พระมเหเสีของพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพระภคินี(พี่สาว)ของพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาวจึงทรงมีสิทธิที่จะได้ครองเมืองก่อนพ่อพ่อขุนผาเมืองก็เป็นได้
พระราชกรณียกิจ ประมาณปีพุทธศักราช ๑๗๙๒ พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด และพระสหาย คือ พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยางได้รวมกำลังกันยกมาตีเมืองสุโขทัยจากขอมสบาดโขลญลำพง ครั้งแรกพ่อขุนบางกลางหาวตีได้เมืองศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองตีได้เมืองบางขลง และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง แล้วนำพลมาทางเมืองราด เมืองศรีสัชนาลัย ถึงเมืองสุโขทัย ขอมสบาดโขลญลำพงสู้ไม่ได้หนีไป ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้ ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลาวหาว พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวผู้เป็นสหาย และเป็นน้องเขยขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย โดยเอานามที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระราชทานนั้นให้กับพ่อขุนบางกลางหาวแล้วได้แก้ไขพระนามใหม่ว่ากมรเต็งอัญศรีอินทราทิตย์และพระราชทานพระขรรค์ชัยศรี ให้ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงปกครองกรุงสุโขทัย (บางตำราว่า พ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นพระชามาดา(ลูกเขย) ของกษัตริย์ขอม(กษัตริย์ศรีโสธรปุระ))ทรงยกพระนามดังกล่าวให้แก่พ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็นศรีอินทราทิตย์ โดยคำว่าบดินทรหายออกไป เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้ เป็นบดี แห่ง อินทรปัต คือ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร (เมืองอินทรปัต) (ดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๒) อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์ ส่งผลให้ราชวงศ์พระร่วงเข้า มามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป แต่เขตแดนเมืองสรลวงสองแคว ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอยู่
การที่พ่อขุนผาเมืองทรงยกสุโขทัย และอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์ อาจจะทรงเห็นว่าสุโขทัย ในขณะนั้นเป็นเมืองเล็กกว่าศรีสัชนาลัย หรืออาจจะเป็นเพราะว่านางเสือง พระมเหสีของพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพระภคินี(พี่สาว) ของพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาวจึงทรงมีสิทธิ์ที่จะได้ครองเมืองก่อนพ่อขุนผาเมืองก็เป็นได้
ในกลางรัชสมัย ทรงมีสงครามกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ทรงชนช้างกับขุนสามชน แต่ช้างทรงพระองค์ ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า หนีญญ่ายพ่ายจแจ ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก ทรงมีพระปรีชาสามารถ ได้ชนช้างชนะขุนสามชน ภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่ารามคำแหง 
แต่ต่อมา ได้มีการแปลความใหม่ปรากฏว่า พ่อขุนศรีอนทราทิตย์ไม่ได้แพ้หรือหนี เพราะปรากฏข้อความในจารึกตอนต่อไปว่า
“…กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับช้างเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน…

          เมื่อวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า ถ้าพ่อกูหนีแล้วทำไมจะใช้ข้อความว่ากูขับเข้าก่อนพ่อกู แสดงว่าพ่อกูไม่ได้หนี กูขับแซงขึ้นหน้าไปเท่านั้นเอง ทรงวางรากฐานระบบการปกครองจากเดิม ที่ขอมใช้ปกครองสุโขทัย ในระบบข้ากับทาส มีการเหลื่อมล้ำต่ำสูง กล่าวคือ ถ้าเป็นคนขอมด้วยกันก็ปกครองแบบนายกับข้า หรือเจ้ากับข้า ส่วนคนไทยจะถูกบับบังคับให้เป็นทาส เปลี่ยนมาเป็น แบบบิดาปกครองบุตร ซึ่งทั้งบิดา และบุตรมีหน้าที่เป็นทหารป้องกันแผ่นดินในยามสงคราม แต่ยามสงบพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุข์แก่ราษฎร ถึงจะเป็นระยะเริ่มต้นของการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ดำรงความเป็นไทยให้เป็นปึกแผ่น แต่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ล้วนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ด้วยพระบารมีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงวางพื้นฐานการปกครองระบอบพ่อปกครองลูก จนบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ไพร่ฟ้าหน้าใส ปรากฏชัด ในแผ่นดินพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้เป็นพระโอรสอย่างแท้จริง
ในยุคประวัติศาสตร์ชาตินิยม มีคติหนึ่งที่เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำชนชาติไทย ต่อสู้กับอิทธิพลขอมในสุวรรณภูมิ ทรงได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ภายหลัง คติดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นปฐมกษัตริย์ แต่พระองค์ถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย
พระราชโอรส พระราชธิดา  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระธิดารวม ๕ พระองค์ ได้แก่
๑. พระราชโอรสองค์โต (ไม่ปรากฏนาม)เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
๒. พ่อขุนบานเมือง
๓. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พระนามขณะที่ยังทรงพระเยาว์ไม่ปรากฏ)
๔. พระธิดา (ไม่ปรากฏนาม)
๕. พระธิดา (ไม่ปรากฏนาม)
แม้ไม่ทราบแน่นอนว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีใด แต่ภายหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนบานเมือง ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ได้สืบราชสมบัติแทน

๒.พ่อขุนบานเมือง(ขุนปาลราช)
พ่อขุนบานเมือง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เป็นพระราชโอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พ่อขุนรามคำแหงเป็นพระอนุชาของพระองค์ พระนามตามศิลาจารึกว่า “พระยาบานเมือง” นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าพ่อขุนบานเมืองครองราชย์ปีใดไม่ปรากฏ เนื่องจาก ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชประวัติของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตปีใด พ่อขุนบานเมืองทรงครองราชย์ต่อจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จนถึง พ.ศ.๑๘๒๒ พระนามปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ และหลักที่ ๔๕ คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่าพระนามของพระองค์ คือ บาลเมือง ทั้งนี้เพราะสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์ จึงมักจะแปลงพระนามเป็นภาษาบาลีไป
ในส่วนตรงนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวถึงเกี่ยวกับพ.ศ.ไว้ว่า
อนึ่ง ปีเสวยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์สุโขทัยแตกต่างกันไปในเอกสารปัจจุบัน เนื่องจากแต่เดิมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งเวลาครองราชสมบัติไว้คร่าวๆเพื่อเป็นแนวทางการศึกษา โดยเฉลี่ยว่าพระมหากษัตริย์สุโขทัยแต่ละพระองค์ทรงครองราชสมบัติประมาณ ๒๐ ปี เมื่อมีหลักฐานเพิ่มเติมก็จะปรับศักราชใหม่ตามหลักฐาน รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ.ศ.๑๗๘๐ – ๑๘๐๐ รัชกาลพ่อขุนบานเมือง พ.ศ.๑๘๐๐ – ๑๘๒๐ รัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ.๑๘๒๐ – ๑๘๖๐ ทรงเพิ่มเวลาให้ เพราะทรงทราบว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้เวลาขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวางมากกว่ารัชกาลอื่น

ประวัติศาสตร์สมัยพ่อขุนบานเมืองนี้มีไม่ค่อยมากนัก เพราะไม่ค่อยพบหลักฐานที่แน่ชัด เพียงแต่เสวยราชต่อจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และทำสงครามขยายอาณาจักรเท่านั้น

๓.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช



พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๘๒๒ ถึงประมาณ พ.ศ.๑๘๔๑ พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่างๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี
พระราชประวัติ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามฯ ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า พระยาบานเมือง ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา
ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พ่อขุนมังราย(เม็งราย)มหาราชแห่งล้านนา และพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุตทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพ่อขุนเม็งรายประสูติเมื่อ พ.ศ.๑๗๘๒ พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุสิบเก้าพรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่บนน้ำแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า พระรามคำแหงซึ่งแปลว่า พระรามผู้กล้าหาญ
จากจดหมายเหตุจีน พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๘๔๑ และพระยาเลอไทยซึ่งเป็นพระราชโอรสได้เสวยราชย์แทนในปีนั้น
รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟู และเจริญ ขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐิกิจ และการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล
ด้านการปกครอง
เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ พ่อปกครองลูกดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า
เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว
ด้านกฎหมาย ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรม และนิติบัญญัติไว้ดัง ต่อไปนี้ ๑) ราษฎร์สามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบ หรือภาษีผ่านทาง ๒) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และ ๓) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้
ด้านการศาสนา นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตรขึ้น เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน
ด้านการประดิษฐ์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖ ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่น ซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระ และพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกันทำให้เขียน และอ่านหนังสือไทยได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น
ด้านวรรณกรรม วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๓๕) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขายเห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด

นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัย ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้คัดลอกให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
ด้านขยายพระราชอาณาเขต พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางไพศาล คือ
ทิศตะวันออก ทรงปราบได้เมืองสรหลวงสองแคว (พิษณุโลก), ลุมบาจาย, สะค้า (สองเมืองหลังนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้), ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์และเวียงคำในประเทศลาว
ทิศใต้ ทรงปราบได้คนที (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร), พระบาง (นครสวรรค์), แพรก (ชัยนาท), สุพรรณภูมิ, ราชบุรี, เพชรบุรี, และนครศรีธรรมราช โดยมีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดนไทย
ทิศตะวันตก ทรงปราบได้เมืองฉอด, เมืองหงสาวดี และมีสมุทรเป็นเขตแดนไทย
ทิศเหนือ ทรงปราบได้เมืองแพร่, เมืองน่าน, เมืองพลัว (อำเภอปัว น่าน), ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) เป็นเขตแดนไทย

๔.พระยาเลอไทย
พระยาเลอไทย บางตำราว่า พระองค์มีอีกพระนามว่า ธรรมิกราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นพระราชบิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลือไทย, ลิไทย) พระยาเลอไทยเสวยราชสมบัติ พ.ศ.๑๘๔๑ – ๑๘๖๖ ศิลาจารึกหลักที่ ๒ กล่าวถึงพระยาเลอไทยว่า
หลานพ่อขุนศรีอินทราทิตย ผู้หนึ่งชื่อธรรมราชาพุล (คือเกิด) รู้บุญรู้ธรรมมีปรีชาญาแก่กม (ปรีชามากมาย) บ่มิกล่าวถี่เลย

ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏ หลักฐานรายละเอียดเกี่ยวกับพระองค์เลย
ด้านการปกครอง ในรัชกาลของพระยาเลอไทยนี้ สุโขทัยก็เริ่มเสื่อมอำนาจ ทำให้หัวเมืองต่างๆ เริ่มแข็งข้อ อย่างเช่น ขอม มอญ เป็นต้น ทำให้หัวเมืองต่างๆไม่ยอมเข้าร่วมด้วย
ด้านการขยายพระราชอาณาเขต ตามประวัติบางหลักฐานกล่าวว่า ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงตั้งให้พระยาเลอไทย พระราชโอรสเป็นมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย(เมืองสวรรคโลกปัจจุบัน) อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเข้าใจว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ย้ายเมืองชะเลียงไปตั้งที่ทำการใหม่ที่เมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองหลวงที่ ๒ รองจากกรุงสุโขทัย จึงได้ทรงแต่งตั้ง พระยาเลอไทยปกครองเมือง ต่อมาเมื่อพระยาเลอไทยได้ราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสของพระองค์ ชื่อพระยาศรีธรรมราชา(พระยาลิไทย)ไปครองเมืองในฐานะเป็นพระมหาอุปราช เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๐ ต่อมาพระยาลิไทยได้ไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง โดยวิธีย้ายเมือง ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งอยู่ที่เมืองสองแคว ซึ่งเดิมอยู่ทางใต้(ตรงวัดจุฬามณี)ไปตั้งที่บริเวณเมืองพิษณุโลก(ที่ตั้งปัจจุบัน)แต่ยังเรียกชื่อเมืองสองแควตามเดิม
นอกจากเมืองสองแคว(หรือพิษณุโลกในปัจจุบันนี้) แล้วพระยาเลอไทยยังได้สร้างเมืองเพื่อให้เป็นเมืองคู่บุญกับเมืองศรีสัชนาลัย คือ เมืองชากังราว เมืองนครชุม(ซึ่งกลายชื่อมาเป็นเมืองกำแพงเพชร(ฝั่งตะวันออก)) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระราชโอรสไปปกครอง
          ด้านการต่างประเทศ ปีที่พระยาเลอไทยเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้หลักฐานจากจดหมายเหตุจีน ซึ่งบันทึกว่าพระองค์ได้ทรงส่งราชทูตไปถึงเมืองจีนในต้น ค.ศ.๑๒๙๙ ซึ่งเป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคต คือ พ.ศ.๑๘๔๑ (สมัยเดิมถ้าเป็นเดือนมกราคมถึงมีนาคม ต้องใช้ ๕๔๒ บวก ถ้าเป็นเดือนเมษายนถึงธันวาคม จึงจะใช้ ๕๔๓ บวก อย่างไรก็ดี เรือออกเดินทางไปก่อนนั้นหลายเดือน พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงสวรรคต เมื่อปลายภาค ค.ศ.๑๒๘๙ ตรงกับ พ.ศ.๑๘๔๑) ส่วนปีสิ้นรัชกาลพระยาเลอไทย คือ พ.ศ.๑๘๖๖ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลของพระยางั่วนำถุม

๕.พระยางั่วนำถุม
          พระยางั่วนำถุม ทรงเป็นพระยามหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๖ – ๑๘๙๐ ชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวไว้ว่า พระองค์เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนบานเมือง สันนิษฐานกันว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์คงอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถุม เหตุที่สันนิษฐานเช่นนั้นเนื่องจากเป็นธรรมเนียมของคนสมัยนั้น ที่นิยมเอาชื่อบรรพบุรุษมาตั้งเป็นชื่อหลาน ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า งั่ว เป็นคำนำหน้านามที่แสดงว่าเป็นบุตรชายคนที่ ๕ และ นำถุม ถาษาถิ่นแปลว่าน้ำท่วม พระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระยาเลอไทย ซึ่งเป็นพระบิดาของพระยาลิไทยกษัตริย์ลำดับที่ ๖ ต่อจากพระยางั่วนำถุม จึงมีการสันนิษฐานว่า พระยาลิไทยนั้นน่าจะยังมีพระชนมายุน้อยกว่า หรือเป็นรัชทายาทที่ยังเยาว์วัย หรือครองอยู่เมืองเชลียง(เมืองศรีสัชนาลัย) ดังนั้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแผ่นดิน หรือพระยาเลอไทยทรงประชวรอยู่ จนอำนาจของเมืองสุโขทัยซึ่งเป็นที่รวมศรัทธาเมืองต่างๆ ในอาณาจักรนั้นได้อ่อนแอลง ทำให้เมืองต่างๆพยายามแยกตัวเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้การทำให้เมืองสุโขทัยยังสามารถรักษาฐานอำนาจให้เมืองอื่นมีความศรัทธานับถือได้ จึงทำให้พระยางั่วนำถุม พระอนุชาของพระยาเลอไทยขึ้นครองเมืองสุโขทัยแทน
ทรงสถาปนาพระยาลิไทย(พระมหาธรรมราชาที่ ๑) ให้เป็นพระมหาอุปราช ทรงครองเมืองศรีสัชนาลัยเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๓
          ด้านการปกครอง หลังจากปี พ.ศ.๑๘๔๑ ซึ่งเป็นปีสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยก็แตกสลาย เมืองต่างๆตั้งตัวเป็นเอกราช เช่น เมืองคนที(กำแพงเพชร) พระบาง(นครสวรรค์) เชียงทอง(ระแหงตาก) มาถึงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) จึงทรงขยายอาณาจักรสุโขทัยออกไปใหม่(จารึกหลักที่ ๓)
ปีเสวยราชสมบัติของพระยางั่วนำถุม คือ พ.ศ.๑๘๖๖ ซึ่งคำนวณจากปีที่พระยาลิไทย(ลือไทย) แต่งไตรภูมิพระร่วงคือ ปีระกา ศักราช ๒๓ (เมื่อพระยาลิไทยทรงครองราชสมบัติในเมืองศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี) เมื่อเทียบกับจารึกหลักที่ ๕ ซึ่งกล่าวว่า เมื่อพ.ศ.๑๙๐๔ พระยาลิไทย เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยได้ ๒๒ ปี (คือ ๑๖ ปี หลังจากทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วง) คือ ศักราช ๒๓+๑๖ เท่ากับศักราช ๓๙ เอา ๓๘ ลบ จะได้ศักราช ๑ ซึ่งตรงกับพ.ศ.๑๘๖๖ ถือเป็นปีที่พระยางั่วนำถุมครองราชย์
เหตุการณ์ความแตกแยกของแคว้นสุโขทัยคงเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาการครองราชย์สั้นๆ ในสมัยพระยาเลอไทยหรือไม่ก็ในสมัยพระยางั่วนำถุม ทั้งนี้เนื่องมาจากการรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวในสมัยก่อนหน้านั้น ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของผู้นำ คือ พ่อขุนรามคำแหงเพียงอย่างเดียว มิได้พัฒนาระบบการปกครองในการยึดโยงบ้านเมืองต่างๆ เหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกันอย่างถาวร
ความแตกแยกระหว่างบ้านพี่เมืองน้องในแคว้นสุโขทัย แสดงอย่างชัดเจนเมื่อพระยางั่วนำถุม สิ้นพระชนม์ผู้ครองเมืองสุโขทัยต่อมา อาจเป็นผู้สืบสายเลือดมาจากพระยางั่วนำถุมก็ได้แต่เป็นการสืบสายที่ผิดจารีตประเพณี ดังนั้น พระยาลิไทย ซึ่งขณะนั้นครองอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย จึงได้ยกเป็นข้ออ้างในการนำกำลังเข้ายึดเมืองสุโขทัยไว้ได้ และประหารศัตรูผู้เป็นเสี้ยนหนามเสีย
ส่วนปีสวรรคตของพระยางั่วนำถุมคำนวณได้จากปีที่พระยาลิไทยทรงยกกองทัพไปปราบสุโขทัยใน พ.ศ.๑๘๙๐ แล้วเสด็จขึ้นเสวยราชย์(จารึกหลักที่ ๔) อาจจะเป็นเพราะพระโอรสของพระยางั่วนำถุมจะเสวยราชย์สืบแทนพระราชบิดา พระยาลิไทย ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งมหาอุปราชจึงต้องเสด็จไปปราบปรามก็เป็นได้

๖. พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย)
พญาลิไท, พระยาลิไทย, พระศรีสุริยพงศ์รามมหาราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ทรงเป็นพระมหาอุปราชครองราชย์ ณ เมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ.๑๘๘๓) พระโอรสพญาเลอไท และพระราชนัดดา (หลานปู่) ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระยาลิไทยเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระยางั่วนำถุม จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุ พ.ศ.๑๙๓๕ หลักที่ ๘ ข. ค้นพบ เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ ได้กล่าวว่า เมื่อพระยาเลอไทยสวรรคต ใน พ.ศ.๑๘๘๔(บางตำราว่า ๑๘๖๖) พระยางั่วนำถุมได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาพระยาลิไทยยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติได้ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.๑๘๙๐ทรงพระนามว่า พระศรีสุริยพงส(พงศ์)รามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า พระยาลิไทย หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระมหาธรรมราชาลิไท ก็เรียก
ด้านการศึกและการปกครอง กรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑(พระเจ้าอู่ทอง) ย่อมไม่ปล่อยให้เกิดคู่แข่งการสร้างสมอำนาจชอบธรรมขึ้นมาอีกศูนย์หนึ่ง
ดังนั้น ครึ่งหนึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงเสด็จยกทัพมายึดเมืองสองแคว(พิษณุโลก) ไว้ได้ และได้ทรงให้ขุนหลวงพ่องั่ว(สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขณะเป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรี)ผู้เป็นพี่มเหสีขึ้นมาครองเมืองสองแควไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของแคว้นสุโขทัย เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในบทบาทของพระมหาธรรมราชาที่ ๑(พระยาลิไทย)
การที่อำนาจกรุงศรีอยุธยาเข้าครอบงำเมืองสองแคว ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันออกเพียง ๖๐ กิโลเมตรเท่านั้น ย่อมเป็นสิ่งขัดขวางต่อการขยายอิทธิพลของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ออกไปนอกเขตเมืองสุโขทัยที่พระองค์ครองอยู่
ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมืองหรือการใช้ศาสนาเป็นสื่อชักนำให้เมืองต่างๆเข้ามาอยู่ในอาณาจักรด้วย พระองค์ได้แสดงบทบาทในทางศาสนาอย่างเต็มที่  เช่น การสร้างพระพุทธบาท การสร้างศาสนสถาน และการชักนำประชาชนเมืองต่างๆเข้ามาอยู่ในอาณาจักร เช่น การสร้างศาสนสถาน และการชัดนำประชาชนเมืองต่างๆ ไปนมัสการพระพุทธบาท และศาสนสถานที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นโดยการออกผนวช เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๕ และหลังจากนั้นน่าจะมีข้อตกลงบางประการอันเป็นการแลกเปลี่ยน และเงื่อนไขในการริดรอนอำนาจของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลง โดยที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงคืนเมืองสองแควให้
ขุนหลวงพ่องั่ว(ขุนหลวงพะงั่ว)ได้เสด็จกลับไปครองเมืองสุพรรณบุรีดังเดิม ส่วนพระยา ลิไทยต้องเสด็จไปครองเมืองสองแคว คงทิ้งราชบัลลังก์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้แก่น้องหญิงของพระองค์อยู่ระยะเวลาหนึ่ง และเช่นเดียวกัน ก็เท่ากับเป็นการทำลายอำนาจชอบธรรมที่มีอยู่ในตำแหน่งของเจ้าเมืองสุโขทัยลงไปด้วย
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เสด็จสวรรคต และสมเด็จพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งเป็นอุปราชอยู่ที่เมืองลพบุรีได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาต่อมา พระยาลิไทยจึงได้เริ่มบทบาทของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ได้มีการเคลื่อนไหวลักษณะการระดมแนวร่วมของบ้านเมืองต่างๆ ในเขตแคว้นสุโขทัย เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เสด็จจากเมืองสองแควกลับมายังเมืองสุโขทัย หลังจากพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองสองแควถึง ๗ ปี
แต่ความพยายามของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ในการเรียกกลับคืนพระราชอำนาจ และศักดิ์ศรีของเมืองสุโขทัยก็เป็นไปไม่ได้นาน เพราะหลังจากนั้น พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตไปก่อน และในปีพ.ศ.๑๙๑๔(บางตำราว่า พ.ศ.๑๙๑๓) นั้นเอง ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑(ขุนหลวงพ่องั่ว) ซึ่งได้ครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาแทนสมเด็จพระราเมศวรแล้วนั้น ได้เข้ายึดครองดินแดนในแคว้นสุโขทัยได้ทั้งหมด โดยที่ยังปล่อยให้เจ้าเมืองเดิมครองเมืองของตนอยู่ต่อไป
ด้านการขยายพระราชอาณาเขต ขอบเขตของอาราจักรสุโขทัยในระยะนี้คงลดน้อยลง โดยสามารถกำหนดขอบเขตของอาณาจักรสุโขทัยในระยะนี้ได้ดังนี้
ทิศเหนือ มีขอบเขตถึงเมืองแพร่
ทิศใต้ มีขอบเขตถึงเมืองพระบาง โดยมีเมืองชากังราว เมืองปากยม เมืองพระนครชุม เมืองสุพรรณภาว เมืองพานรวมอยู่ด้วย
ทิศตะวันออก มีขอบเขตถึงเขตแดนอาณาจักรล้านช้าง โดยมีเมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองราด เมืองลุมบาจาย เมืองสคารวมอยู่ด้วย
ทิศตะวันตก มีขอบเขตถึงเมืองฉอด
ด้านการศาสนา พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนได้รับพระนาม พระมหาธรรมราชาลิไท(ย) ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๕ ที่วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก ทรงอาราธนาพระสามิสังฆราชจากลังกาเข้ามาเป็นสังฆราชใน กรุงสุโขทัย เผยแพร่เพิ่มความเจริญให้แก่พระศาสนามากยิ่งขึ้น ในสมัยนี้ มีเป็นเหตุการณ์ทางศาสนาที่อธิบายความเป็นไปของบ้านเมืองแคว้นสุโขทัยได้ อีกประการหนึ่ง ในขณะที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่นั้น ปรากฏมีพระสงฆ์ ๒ รูป คือ พระสุมนเถระ และพระอโนมาทัสสี ซึ่งเป็นพระสาวกชาวสุโขทัย และเคยไปบวชเรียนทางพุทธศาสนาอยู่ที่สำนักสงฆ์ในกรุงอโยธยา
พระทั้งสองรูปนี้ ได้เดินทางไปยังนครพัน ซึ่งเป็นเมืองๆหนึ่งในพม่าตอนใต้ แถบบริเวณอ่าวเมาะตะมะ และเป็นที่ตั้งสำนักทางพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าสำนักได้เคยไปบวชเรียนมาจากเกาะลังกา พระสุมนเถระ และพระอโนมทัสสี ได้เข้าบวชเรียนใหม่ในสำนักนี้
เมื่อเดินทางกลับมายังแคว้นสุโขทัยแล้ว ได้มีการประกาศพระศาสนาสำนักของตนเองว่าเป็นสำนักลังกาวงศ์ ซึ่งสืบสายมาจากเกาะลังกา พุทธศาสนาสำนักนี้ได้รับความสนพระทัยจากพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เป็นอันมาก แต่ในทางกลับกัน พระยางั่วนำถุม ซึ่งครองอยู่ที่เมืองสุโขทัย ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก(ไม่รุ่งเรืองเท่าสมัยพระยาลิไทย)
ดังนั้น เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ขึ้นครองราชย์ที่เมืองสุโขทัยแล้ว พุทธศาสนาสำนักนี้จึงได้รับการอุปถัมภ์จากพระองค์เป็นอันมาก
ทรงสร้าง และบูรณะวัดมากมายหลายแห่ง รวมทั้งการสร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธรูปองค์สำคัญองค์หนึ่งของประเทศ คือ พระพุทธชินราช ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
ด้านคมนาคม ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญหลายประการ เช่น สร้างถนนพระร่วง ตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัยผ่านกรุงสุโขทัยไปถึงเมืองนครชุม(กำแพงเพชร) บูรณะเมืองนครชุม สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง
ด้านวรรณกรรม ระหว่างที่ทรงเป็นพระมหาอุปราชอยู่ได้ทรงนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงทรงพระปรีชาสามารถนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วงที่นับเป็นงานนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ด้วยเหตุนี้ จึงได้พระนามว่า พระมหาธรรมราชาลิไท(พระยาลิไทย)
พระองค์เสวยราชย์จนถึง พ.ศ.๑๙๑๑ ขณะนี้ พระอัฐิธาตุของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยังบรรจุอยู่ในพระสถูปองค์หนึ่งภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย เป็นที่กราบไหว้ของชาวสุโขทัยในอดีต แม้กษัตริย์กรุงศรีอยุธยารุ่นหลังๆต่อมาก็ยังเสด็จมาบูชาอัฐิธาตุของพระองค์ในฐานะผู้เป็นธรรมราชาของชาวพุทธทั้งปวง

๗.พระมหาธรรมราชาที่ ๒(ลือไทย)
พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงเป็นพระมหากษตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เป็นพระราชโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย) กับพระนางศรีธรรม เสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๑๑ – ๑๙๔๒ จึงทรงผนวช (จารึกหลักที่ ๙๓ และหลักที่ ๒๘๖) จารึกหลักที่ ๑๐ พ.ศ.๑๙๔๗ กล่าวถึงท่านเจ้าพันให้คนหุงจังหันเจ้าธรรมราช และจารึกหลักที่ ๒๖๔ กล่าวถึงเรื่องพระมหาธรรมราชาที่ ๒ สวรรคตในพ.ศ.๑๙๕๒
          จารึกหลักที่ ๙๓ และหลักที่ ๒๘๖ ตอนที่เป็นภาษาบาลี มีข้อความศักราช ๗๓๐ (พ.ศ.๑๙๑๑) พระมหาธรรมราชาธิราช(ที่ ๒) ได้ประสูติจากพระครรภ์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้สำเร็จการศึกษา และได้ราชสมบัติ…จึงมีผู้ตีความว่าพระองค์ประสูติใน พ.ศ.๑๙๑๑ แต่ข้อความตอนหลังมีว่า เมื่อพระชนมายุ ๓๘ พรรษา ศักราช ๗๕๘(พ.ศ.๑๙๓๙) ได้ขยายอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป แสดงว่าพระองค์ประสูติ เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๑ ฉะนั้น พ.ศ.๑๙๑๑ จึงควรเป็นปีเสวยราชสมบัติของพระองค์
          ด้านการปกครอง จารึกหลักที่ ๙๓ และหลักที่ ๒๘๖ กล่าวว่า เมื่อพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา พ.ศ.๑๙๓๙ ทรงปกครองปกกาว (ปกหมายถึง ปกครอง กาว คือชาวกาว หรือชาวน่าน ปกกาวจึงหมายถึงปกครองรัฐน่าน) ชวา(หลวงพระบาง) ดอยอุย (นครสวรรค์) ลุมบาจาย ถึงสายยโสธร เพชรบูรณ์ เชียงดง เชียงทอง ไตรตรึงษ์ ฉอด นครพัน นาคปุระ(เชียงแสน) จารึกหลักที่ ๖๔ พ.ศ.๑๙๓๕ มีข้อความแสดงว่า แพร่ งาว พลัว อยู่ใต้ความดูแลของน่าน ซี่งเป็นแคว้นอยู่ภายใต้ความดูแลของสุโขทัย
พ.ศ.๑๙๔๒ ในขณะที่พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงผนวชอยู่ พระมเหสีทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการ และจะทรงยกพระรามราชาธิราชพระราชโอรสของพระนางเป็นพระธรรมราชาธิราช แต่ในปีถัดไป พ.ศ.๑๙๔๓ พระชายาอีกองค์หนึ่งกับพระราชโอรส ทรงพระนามทว่าพระเจ้าไสลือไทยได้ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสลือไทย) พระนามพระธรรมราชาธิราช ในจารึกหลักที่ ๙๓ ก็ลบเลือนเห็นแต่
…ม ราชาธิราช

และข้อความที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๒๘๖ ก็กล่าวถึง พระรามราชาธิราชผู้ทรงเป็นโอรสองค์แรก ไม่เอ่ยถึงพระธรรมราชาอีก เอกสารอื่นก็ไม่เคยกล่าวถึงพระองค์อีกเลย
ด้านกฎหมาย จารึกหลักที่ ๓๘ พ.ศ.๑๙๔๐ จารเรื่องกฎหมายลักษณะโจร(หรือกฎหมายลักษณะลักพาเป็นกฎหมายเก่าที่สุดของไทยที่ปรากฏตามรูปเดิมโดยไม่มีการแก้ไข มีข้อความแสดงว่ากฎหมายสมัยนั้นอาศัยพระธรรมศาสตร์ และราชศาสตร์เป็นหลัก)
ด้านการศาสนา พ.ศ.๑๙๑๒ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงส่งพระมหาสุมนเถระไปสืบศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์เก่า หรือรามัญวงศ์ที่เชียงใหม่ ตามที่พระเจ้ากือนาแห่งล้านนาทรงขอมา ตามพงศาวดารโยนกพระยาศรีธรรมราชทรงส่งพระมหาสุมนเถระไปล้านนา ทำให้สันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๒ อาจจะพระนามเดิมว่าศรี รับกับข้อความในจารึกที่ ๑๐๒ พ.ศ.๑๙๒๒ ที่กล่าวย้อนหลังไปเกี่ยวกับท่านพระศรีราชโอรสเมืองสุโขทัยนี้
ด้านการศึก ภายหลังสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑(พระยาลิไทย)แล้วอาณาจักรสุโขทัยเริ่มอ่อนแอลงอีก ขณะเดียวกันอาณาจักรใหม่ทางใต้ คือ อาณาจักรอยุธยา รวมทั้งอาณาจักรล้านนาไทย เริ่มมีอำนาจมีกำลังเข้มแข็งขึ้นอีก โดยเฉพาะอาณาจักรสุโขทัยได้แสดงอำนาจ และเริ่มรุกรานหัวเมืองของอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่ภายหลังอาณาจักรสุโขทัยจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยนั้น                                                         
ในรัชกาลนี้พระองค์ได้รบกับทัพกรุงศรีอยุธยาแต่ก็พ่ายแพ้ และยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาในที่สุดพระยาลือไทย ขึ้นครองราชย์เมื่ออาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอเสื่อมอำนาจ อาณาจักรถูกแบ่งออกเป็น ๒ แคว้น คือ แคว้นชากังราวประกอบด้วยเมืองตาก ชากังราว (กำแพงเพชร) และนครสวรรค์ กับแคว้นสุโขทัย ประกอบด้วยเมืองสุโขทัย อุตรดิตถ์ สองแคว (พิษณุโลก) พิจิตร นอกจากนี้เมืองขึ้นสำคัญ เช่น เมืองหงสาวดี และเมืองอู่ทองต่างแข็งข้อ ลุถึง พ.ศ.๑๙๒๑ สุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาพระยาลือไทยจึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรสุโขทัย
อย่างไรก็ดี พระยาลือไทยยังทรงครองเมืองต่อไปที่ราชธานีพิษณุโลกในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาจนถึงประมาณ พ.ศ.๑๙๓๑ และมีรัชทายาทครองเมืองสืบต่ออีก ๒ พระองค์ จนถึงวาระที่เมืองพิษณุโลกถูกรวมไว้ในอาณาจักรอยุธยาโดยเด็ดขาดเมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑ โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)ส่งพระโอรส คือ พระราเมศวร(พระนามของพระบรมไตรโลกนาถขณะทรงเป็นเจ้าฟ้า)ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกแทน มีผลให้อาณาจักรสุโขทัยสิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง
ส่วน พงศาวดารโยนกกล่าวถึงเจ้าเมืองสุโขทัยขอกองทัพเชียงใหม่ไปช่วยป้องกันสุโขทัยจากการโจมตีของอยุธยาแล้วเกิดกลับใจ ลอบยกพลออกปล้นเชียงใหม่ ตรงกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า พ.ศ.๑๙๓๑ กองทัพอยุธยายกไปตีเมืองชากังราว(กำแพงเพชร) แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงพระประชวร และเสด็จกลับพระนครเสียก่อน
ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๒ อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เป็นครั้งแรก พ.ศ.๑๙๒๑
ตามหลักฐาน พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงมีพระโอรสองค์เดียว คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสลือไทย) ซึ่งได้ครองราชย์ต่อจากพระองค์ และไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ แต่มีการสันนิษฐานว่า พระองค์เสด็จสวรรคตในราวปี พ.ศ.๑๙๔๒

๘.พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสลือไทย) 
          พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ทรงเป็นพระมหากษตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๔๓(จารึกหลักที่ ๔๖) ถึงพ.ศ.๑๙๖๒(พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์)
พระมหาธรรมราชาที่ ๓ เป็นพระราชโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และเป็นพระเชษฐาพระมหาธรรมราชาที่ ๔(บรมปาล) แต่บางตำรากล่าวว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เป็นพระราชบิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตแล้ว(พ.ศ.๑๘๔๑)อาณาจักรสุโขทัยแตกแยกเป็นส่วนๆ พระมหาธรรมราชาที่ ๑(ลิไทย) ทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยขึ้นใหม่ใน พ.ศ.๑๙๓๕ เมืองแพร่ งาว พลัว อยู่ในความดูแลของกษัตริย์น่าน รวมเป็นแคว้นขึ้นกับอาณาจักรสุโขทัย(จารึกหลักที่ ๖๔) พ.ศ.๑๙๓๙ สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ อาณาจักรสุโขทัยรวมถึงปกกาว(รัฐน่าน) ลุมบาจาย ชวา(หลวงพระบาง) ดอยอุย พระบาง(นครสวรรค์) นครไทย เพชรบูรณ์ ไตรตรึงษ์ เชียงทอง เชียงแสนถึงแม่น้ำปิง แม่น้ำโขง ฉอด เมืองพัน(๕๐ กิโลเมตร เหนือ เมาะตะมะ)(จารึกหลักที่ ๒๘๖)
ด้านการปกครอง พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์หลังจากพระมหาธรรมราชาที่ ๒ เสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นช่วงที่กรุงสุโขทัยมีความอ่อนแอทางด้านการปกครอง และการทหารเป็นอย่างมาก สถานะของสุโขทัยนั้นได้ตกเป็นเมืองขึ้นแก่อยุธยาไปแล้วตั้งสมัยรัชกาลที่ผ่านมา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากอยุธยาได้แข็งแกร่งขึ้น และต้องการขยายอาณาจักรออกไป
        โดยในรัชสมัยของพระองค์เมืองสุโขทัยได้เริ่มตกอยู่ในสถานะของเมืองกันชนระหว่างเมืองอยุธยา และเมืองเชียงใหม่ ทั้งสองเมืองนี้มีความพยายามที่จะรวบเอาเมืองสุโขทัยไว้กับตน ดังนั้น ด้วยความกลัวที่สุโขทัยจะเข้าไปผูกสัมพันธไมตรี และผนวกเข้ากับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหากผนวกกันได้จริงจะทำให้อยุธยาตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก อยุธยาจึงมีความพยายามที่จะรวบสุโขทัยให้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของตนโดยสิ้นเชิง
        ถึงแม้จะตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา แต่พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ยังทรงมีความพยายามที่จะปกป้องกรุงสุโขทัยด้วยการยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ถึงแม้จะไม่สามารถชนะการศึกทุกครั้ง แต่นั้นก็เพียงพอที่จะเป็นการแสดงถึงความพยายามของพระองค์ที่จะรักษาบ้านเมืองเอาไว้ เพื่อเป็นการดำรงเมืองสุโขทัยให้อยู่สืบต่อไป ถึงแม้จะมีสถานะเป็นเพียงเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาก็ตาม
ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๓ มีเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรสุโขทัยในจารึกหลักที่ ๔๖ วัดตาเถรขึงหนังว่า พ.ศ.๑๙๔๓ พระองค์ทรง
นำพ(ล) รบราคลาธรณีดลสกลกษัตริย์ (หากขึ้นเสวยใน)มหามไสวริยอัครราช เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์(นครศรีสัชนาลัย) สุโขทัย แกวกลอยผลาญ ปรปักษ์ศัตรู นู พระราชสีมา…เป็นขนอบขอบพระบางเป็นแดน เท่าแสนสองหนองห้วยแลแพร่
ด้านการศึก พงศาวดารโยนก กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าไสลือไทยกกองทัพหลวง(แสดงว่าสุโขทัยเป็นเอกราชในขณะนั้น)ไปช่วยท้าวยี่กุมกามชิงราชสมบัติจากพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่(ขึ้นครองราชสมบัติพ.ศ.๑๙๔๕ ตามชินกาลมาลีปกรณ์ หรือพ.ศ.๑๙๕๕ ตามพงศาวดารโยนก)ตีได้พะเยา เชียงราย และฝาง แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้กลับไป
ด้านการขยายพระราชอาณาเขต ขอบเขตสุโขทัยในระยะตอนต้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๓ คือ ประมาณพ.ศ.๑๙๔๓ ปรากฎหลักฐานในศิลาจารึกที่ ๔๖  กล่าวถึงขอบเขตของอาณาจักรทางใต้ถึงเมืองพระบาง ทางทิศเหนือถึงเมืองแพร่ แต่ต่อมาอีกระยะหนึ่ง ศิลาจารึกหลักที่ ๙๓ ได้กล่าวถึงขอบเขตของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพระมหาธรรมที่ ๓ ไว้ดังนี้
ทิศเหนือ มีขอบเขตถึงเมืองอิฏฐปฏฏนะ(น่าจะเป็นเมืองท่าอิฐ ซึ่งเป็นชื่อเก่าของเมืองอุตรดิตถ์)
ทิศใต้ มีขอบเขตถึงเมืองอุยปพพํต ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง
ทิศตะวันออก มีขอบเขตถึงเมืองนครเทยย(คือเมืองนครไทย ในเขตจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน)
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีขอบเขตถึงเมืองวชชรปูระ (คือเมืองเพชรบูรณ์บนฝั่งแม่น้ำป่าสัก)
ทิศตะวันตก มีขอบเขตถึงเมืองตากปุระ(คือ เมืองตากเก่า)
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีขอบเขตถึงเมืองลกขปูระ(คือ เมืองแสน บนแควน้อย แม่น้ำยม)
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีขอบเขตถึงเมืองเหมปูระ(คือเมืองเชียงทองใกล้กับตัวจังหวัดตากในปัจจุบัน)
ด้านการศาสนา จารึกหลักที่ ๙ กล่าวถึง พระภิกษุฟ้องร้องกันเองมาก พระมหาธรรมราชาที่ ๓ จึงตราพระราชโองการเมื่อ พ.ศ.๑๙๔๙ ว่า ทางสงฆ์ปกครองกันเอง เมื่อสังฆราชาตัดสินว่าอย่างไรแล้วพระองค์ก็จะละเมิดมิได้
ปลายรัชกาล พระองค์ได้ย้ายมาประทับอย่างถาวรที่เมืองพิษณุโลกจนสวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๖๒ แล้วทางเมืองสุโขทัยก็เกิดศึกกลางเมืองชิงราชสมบัติกัน โดยพระโอรสสองพระองค์ คือ พระยาบาลเมือง หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) และพระยาราม(นักวิชาการสันนิษฐานว่าพระยาบาลเมือง และพระยารามเป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๓)

๙.พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล)
          พระมหาธรรมราชาที่ ๔ หรือพระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาล ทรงเป็นพระมหากษตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๖๒ – ๑๙๘๑
พระมหาธรรมราชาที่ ๔ เป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๓(ไสลือไทย) แต่บางตำรากล่าวว่า พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และเป็นพระอนุชาของพระราชเทวีพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา(ดังนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นพระราชโอรสของพระราชเทวี ส่วนพระยาทุษธิษเฐียรเป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ จึงเป็นลูกผู้น้องส่วนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นลูกผู้พี่)
ด้านพระราชสัมพันธไมตรี จารึกหลักที่๔๐ (จารึกเจดีย์น้อย ระหว่างพ.ศ.๑๙๔๗ – ๑๙๘๑) มีข้อความว่า
ถ้าสมเด็จเจ้าพระยา (คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) อยากเสด็จมาสักการะ พระมหาธาตุ หรือธาตุ(กระดูก) พระมหาธรรมราชา(ที่ ๒ พระอัยกา หรือตาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) น้าพระยา(บรมปาล) ก็จะไม่ทรงกระทำสรรพอันตรายแด่พระภาคิไนย(หลานของน้า)ตลอดจนไพร่พลของพระภาคิไนยที่จะมาสู่สำนักของพระองค์ ทั้งสององค์ทรงถวายสัตย์ปฏิญญาณว่าจะทรงซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป
ด้านการปกครอง(การเมืองระหว่างรัฐ) พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ มีข้อความว่า
ศักราช ๗๘๑ กุญศก มีข่าวมาว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล แลจึงเสด็จไปเถิงเมืองพระบาง ครั้งนั้นพระยาบาลเมืองแลพระยารามออกถวายบังคม
แสดงความว่าสุโขทัยแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย คือ พระยาบาลเมืองแห่งเมืองพิษณุโลก และพระยารามแห่งสุโขทัย ต่างคนต่างแย่งกันเป็นพระมหาธรรมราชาใน พ.ศ.๑๙๖๒ แต่ทางอยุธยาสนับสนุนให้พระยาบาลเมืองขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ซึ่งสมเด็จพระนครินทราธิราช ให้ครองเมืองพิษณุโลก มีพระนาม เมื่อครองราชย์ว่าศรีสุริยพงศ์บรมปาลมหาธรรมราชาธิราชประมาณพ.ศ.๑๙๗๒ สุโขทัยแยกเป็น ๔ แคว้น คือ
–        พระยาบาล ครองเมืองพิษณุโลก
–        พระยาราม ครองเมืองสุโขทัย
–        พระยาแสนสอยดาว ครองกำแพงเพชร(ชากังราว)
–        พระยาไสศรียศ ครองชะเลียง(สวรรคโลก) (บางตำราว่า พระยาเชลียง ญาติผู้ใหญ่ให้ไปครองเมืองเชลียง(ศรีสัชนาลัย) )
ดังปรากฏในตำนานมูลศาสนา(ก) ฝ่ายวัดสวนดอกเชียงใหม่(ข) ฝ่ายวัดยางควง
เชียงตุง(ค) ฝ่ายวัดป่าแดงเชียงตุง พระราชพงศาวดารฉบับปลีก ได้กล่าวถึงสุโขทัยที่ยกทัพมาช่วยอยุธยาว่า มี ๔ แคว้นเหมือนกันใน
การแยกอำนาจให้แต่ละคนไปปกครองเมืองต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เป็นนโยบายอันหนึ่ง
ของกรุงศรีอยุธยา ที่แบ่งทอนอำนาจของกรุงสุโขทัยลง และตัดทอนอำนาจกรุงสุโขทัยลงเป็นเมืองธรรมดา มิใช่เมืองหลวงอีกต่อไป และทั้งหมดให้ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
          จนเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๔ สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ อันเป็นรัชสมัย    เจ้าสามพระยา(ศักราชพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) กรุงสุโขทัยก็หมดสิ้นความเป็นศูนย์กลางของหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกต่อไป โดยลดฐานะลงเป็นเมืองๆ หนึ่งทางฝ่ายเหนือเท่านั้น
          เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๙๙๑ แล้วนั้น พระยาทุษธิษเฐียร ราชโอรสพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (ขึ้นครองเมืองพิษณุโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๘๑ – ๑๙๙๔ (ค.ศ. 1438 – 1451) ตั้งความหวังไว้ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่ง มีพระมารดาเป็นเชื้อสายกษัตริย์กรุงสุโขทัยเช่นเดียวกัน จะคืนความเป็นเอกราชให้กับกรุงสุโขทัย และรวมเมืองต่างๆ ที่แยกออกไป มารวมเป็นหัวเมืองเดียวกันเหมือนก่อน แต่ก็ผิดหวังเมื่อไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมหาธรรมราชาองค์ต่อไป จึงพาไพร่พลไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา โดยยกเมืองพิษณุโลก ให้เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านนา จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามยืดเยื้อกันนานปี ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ แต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงยึดกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. ๒๐๐๖ (ค.ศ. 1463) เมื่อพระชนนีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงโปรดที่จะประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกสิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงโปรดที่จะเสด็จมาประทับอย่างถาวรที่เมืองพิษณุโลก เช่น พระชนนีของพระองค์ จนในเวลานั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวง เป็นเมืองสำหรับแขกเมือง ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น เปรียบเสมือนเมืองท่า และเมืองสำหรับพระมหาอุปราชไประยะหนึ่ง ดังนั้น อาณาจักรสุโขทัยจึงเป็นส่วนหนึ่ง ของอาณาจักรอยุธยา
          นับแต่นั้นมากรุงสุโขทัยจึงผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยาอย่างสนิท ทั้งนี้เพราะทั้งสองเมืองต่างก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
ด้านการศาสนา จารึกหลักที่ ๑๒ พ.ศ.๑๙๖๙(ถ้านับปีย่างแบบลังกา และสุโขทัยจะเป็น พ.ศ.๑๙๗๐) จารึกรอยพระพุทธบาท มีข้อความว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า(บรมปาล) ผู้มีอิสราธิบดีในชัยนาทบุรี(เป็นใหญ่ในพิษณุโลก) ทรงให้จำลองรอยพระพุทธบาททั้งคู่ๆลงบนศิลาที่มาจากเมืองสุโขทัยด้วยพระราชานุเคราะห์แห่งพระชนก(พระมหาธรรมราชาที่ ๒) ปัจจุบันจารึกนี้อยู่ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร

อรรถาธิบายกรุงสุโขทัย



๑.เกี่ยวกับอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย นั้น รองศาสตราจารย์ นครพัน พันธุ์ณรงค์ ได้อธิบายไว้ใน หนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย ดังนี้
…การนำเรื่องขอบเขตของอาณาจักรสุโขทัยในระยะต่างๆมากล่าว่า ณ ที่นี้ จะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าอาณาจักรสุโขทัยไม่ได้มีขอบเขตเดียวตลอดยุคสมัย แต่ตามความเป็นจริงนั้นอาณาจักรสุโขทัยจะมีขอบเขตขยายออกไปมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่ที่ความสามารถ และความเข้มแข็งของกษัตริย์ที่ปกครองรวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นประกอบด้วย
๒.เกี่ยวกับจำนวนพระมหากษัตริย์ของสุโขทัย ในจดหมายเหตุงานฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไทย ของกองวรรณคดี และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร(พ.ศ.๒๕๒๖) ได้ สรุป ราชวงศ์สุโขทัย หรือราชวงศ์พระร่วงนี้มีอยู่ ๖ พระองค์แรก เป็นประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ๓ พระองค์หลัง ถึงแม้ว่าสมัยของกรุงสุโขทัย และพระราชวงศ์พระร่วงนี้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบการจัดลำดับกษัตริย์กรุงสุโขทัยนั้น ได้จัดลำดับไว้แตกต่างกันแล้วแต่ใครจะมีหลักฐานมาสนับสนุนมากน้อยเพียงใด ดังนี้
          สมัยที่เป็นอิสระ
                   ๑.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
                   ๒.พ่อขุนบานเมือง
                                ๓.พ่อขุนรามคำแหง
                   ๔.พระเจ้าเลอไท(ย)
                   ๕.พระยางั่วนำถุม
                   ๖.พระเจ้าลิไท(ย)(พระมหาธรรมราชาที่ ๑)
          สมัยขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา
                   ๑.พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (ลือไทย)
                   ๒.พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสลือไทย)
                   ๓.พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล)
๓.เกี่ยวกับพระนามพระมหากษัตริย์สุโขทัย …เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต พระยาเลอไทย ราชโอรสได้ขึ้นเสวยราช แต่ก็มีท่านผู้รู้หลายท่านกล่าวว่า ก่อนพระยาเลอไทยเสวยราชนั้น มีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง คือ พระยาไสสงคราม ได้เสวยราชก่อนพระยาเลอไทย เพราะในศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ มีพระนามไสสงครามอยู่ด้วย และถัดจากพระยาเลอไทย ก็มีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งคือ พระยางั่วนำถุม จึงจะถึงพระยาลิไทย(พระมหาธรรมราชาที่ ๑) ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่เกี่ยวกับพระนามกษัตริย์สุโขทัยนั้น มีดังนี้
“…ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ ปู่พระยาบานเมือง ปู่พระยาเลอไทย ปู่พระยางัวนำถม (พระยางั่วนำถุม) ปู่พระยามหาธรรมราชา
ดังนั้น จากศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ นี้ จึงน่าเชื่อว่า มีกษัตริย์ที่มีพระนามว่าพระยาไสสงครามกับพระยางั่วนำถุม เพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งผิดแปลกจากที่บางท่านเคยทราบมาก่อนก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น